ม.ค. 10 2565
READ 00:00:31
เปิดแนวโน้มธุรกิจประกันภัยปี 2565 ท่ามกลางวิกฤติโควิด
ต้อนรับศักราชใหม่ปีพุทธศักราช 2565 ด้วยข่าวโควิดที่กลับมาทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ราวกับเล่นเทปม้วนเดียวกับช่วงต้นปี 2564 อีกทั้งยังมีของแถมเป็นโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้เหมือนชีวิตหยุดอยู่ที่เดิม ทว่า เวลายังคงเดินไปข้างหน้า รวมไปถึงตัวคุณเองที่ยังคงต้องทำหน้าที่สร้างเครือข่ายต่อไป แต่ก่อนจะเปิดแอปพลิเคชันเพื่อดำเนินการขายกับลูกค้านั้น คุณควรสำรวจแนวโน้มธุรกิจประกันภัยในปี 2565 เสียก่อนเพื่อไม่ให้เสียเวลาทั้งตัวคุณเองและลูกค้าของคุณ
เทรนด์ดูแลสุขภาพกำลังมาแรง
แม้เศรษฐกิจไทยจะหดตัวลง หนี้สินครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น แต่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ อีกทั้งเพราะสถานการณ์โควิดที่ออกข่าวครึกโครมทุกวันก็ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หลายคนเริ่มตื่นตัวในการรักษาสุขภาพและการดูแลตัวเองมากขึ้นเพราะมองเห็นความเสี่ยงในเรื่องของสุขภาพที่อาจทำให้ล้มได้ทุกเมื่อ คุณสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้คาดการณ์เอาไว้ว่า สังคมผู้สูงอายุและสังคมคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในเรื่องสุขภาพนั้นจะส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์กลุ่ม Silver Age หรือกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น1 รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพที่ทำให้พวกเขาอุ่นใจและสามารถใช้ชีวิตอย่างมั่นใจท่ามกลางโรคระบาด
นอกจากเป็นห่วงสุขภาพทั่วไปแล้ว ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับโควิดก่อนที่จะตัดสินใจซื้อประกันภัยอีกด้วย คุณวิลาวัลย์ วิชัยวงษ์ ผู้จัดการตัวแทนอาวุโส สมาชิก MDRT 5 ปี ได้เล่าประสบการณ์ตรงนี้ว่า ตนถูกลูกค้าถามเกี่ยวกับโควิดเช่นกัน อาทิ ประกันนี้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายรักษาโควิดไหม หากเสียชีวิตหรือติดโควิด ทุนประกันที่มีจะพอหรือไม่ และหากติดโควิดแล้วรักษาตัวที่บ้าน ประกันจะจ่ายหรือไม่ ฯลฯ ซึ่งสิ่งที่ตัวแทนประกันควรทำคือ ทบทวนแผนกรมธรรม์ของลูกค้า และแนะนำว่าลูกค้าต้องมีแผนประกันอะไรเพิ่มเติมบ้างเพื่อให้ครอบคลุมกับความต้องการดังกล่าว
ประกันภัยแบบดิจิตอลจะไม่มีวันจากเราไปไหน
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตั้งแต่ที่โลกต้องเผชิญกับโควิด แทบทุกธุรกิจต่างหันไปพึ่งพาโลกออนไลน์มากขึ้นรวมไปถึงธุรกิจประกันภัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน การเดินไปขายถึงบ้านอาจไม่ปลอดภัยทั้งตัวแทนและลูกค้า ดังนั้น การซื้อ-ขายประกันภัยแบบออนไลน์จึงเกิดขึ้นในช่วงนี้นี่เอง ซึ่งมีแนวโน้มว่าการขายประกันภัยแบบออนไลน์จะกลายเป็นช่องทางที่สำคัญที่สุดในอนาคต จากบทสัมภาษณ์ของ คุณมหัทธนะ อัมพรพิสิฏฐ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ TIC พบว่า ตลาดไอโอที (IoT) ในไทยจะเติบโตขึ้นอีกมาก จากมูลค่า 3,600 ล้านบาทในปี 2561 เป็นเกือบ 66,000 ล้านบาทภายในปี 2573 หรือเติบโตเฉลี่ยทบต้นปีละ 27 เปอร์เซ็นต์2 เชื่อได้เลยว่า การขายแบบออนไลน์จะยังอยู่กับเราไปอีกนาน
คุณวิลาวัลย์เองก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับการขายประกันภัยยุคออนไลน์ แม้จะเผชิญหน้ากับความไม่คุ้นชินในช่วงแรก แต่ก็ผ่านมันมาได้จนถึงทุกวันนี้ โดยคุณวิลาวัลย์ได้พูดถึงช่วงเวลานั้นเอาไว้ว่า “เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดของเราเองก่อนว่า ธุรกิจทุกธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ถ้าเราปรับตัวได้ เราก็จะอยู่ในธุรกิจนั้น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสักกี่ครั้ง เราก็จะผ่านมันไปได้ ในเมื่อการทำช่องทางออนไลน์เป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย แต่สถานการณ์ทำให้เราคุ้นชิน และโควิดก็น่าจะอยู่กับเราไปอีกนาน เพราะฉะนั้น เราควรฝึกให้เชี่ยวชาญมากขึ้นเรื่อย ๆ ปรับปรุง แล้วเรียนรู้จากการลงมือทำ เมื่อเวลาผ่านไป เราจะเก่งขึ้นอย่างแน่นอน”
การซื้อประกันภัยจะง่ายขึ้น... แค่ปลายนิ้วคลิก
นอกจากตัวแทนประกันจะต้องขายผ่านทางออนไลน์แล้ว ในปี 2564 ที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นธุรกิจประกันภัยขยับขยายพื้นที่เข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้นเช่นกันเพื่อต่อสู้กับสภาพเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพประกันชีวิต ไทยประกันชีวิต เมืองไทยประกันชีวิต ทิพยประกันภัย และอื่น ๆ อีกมากมายที่ตบเท้าเข้ามาขายกรมธรรม์ในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกันอย่างคึกคัก ทำให้ผู้มุ่งหวังเข้าถึงกรมธรรม์ได้อย่างง่ายดายแค่ปลายนิ้วคลิก อีกทั้งยังมีโปรโมชันจากทางแอปและการลดหย่อนภาษีที่ช่วยทำให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ดังนั้น หากปี 2565 เราได้เห็นบริษัทประกันภัยจับมือกับแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพิ่มขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด
ด้วยเหตุนี้เอง ตัวแทนประกันจึงต้องคอยพัฒนาตัวเองอยู่เสมอเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้แก่ผู้มุ่งหวัง และต้องแสดงให้ผู้มุ่งหวังเห็นถึงความสำคัญของการมีตัวแทนประกัน ซึ่งคุณวิลาวัลย์ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า “สมัยนี้ลูกค้าสามารถเสิร์ช Product ได้ด้วยตัวเอง แล้วเราจะทำอย่างไรให้ลูกค้ายังอยู่กับเรา เพราะฉะนั้น เราจึงต้องพึ่งพา Process มากกว่า Product ทำ Process ของเราให้เป็นระบบแบบแผน ลูกค้าจะได้รู้สึกว่าทำกับเราแล้วง่ายกว่า สะดวกกว่า”
ผลิตภัณฑ์ประกันภัยจะมีความหลากหลายมากขึ้น
หากคุณกำลังคิดว่า โควิด-19 ทำให้กำลังซื้อจากลูกค้าลดลง นั่นหมายความว่าคุณหยุดอยู่กับที่เสียแล้ว ผู้มุ่งหวังสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้ด้วยตัวเองและเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับตนเองมากขึ้น ทว่า หากบริษัทประกันภัยไม่ปรับตัวด้วยการพัฒนาประกันภัยรูปแบบใหม่ ๆ มารองรับความต้องการของลูกค้าก็อาจจะสูญเสียรายได้ไป
หลายบริษัทประกันภัยเริ่มเล็งเห็นความต้องการใหม่ ๆ ของผู้มุ่งหวัง อาทิ ประกันภัยไซเบอร์ ประกันภัยพืชผล ประกันภัยปศุสัตว์ และอื่น ๆ อีกมากมาย ในฐานะตัวแทนประกันที่มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอผลิตภัณฑ์เหล่านี้ คุณจึงไม่ควรหยุดอยู่กับที่ หมั่นหาความรู้เพิ่มเติมและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ จากวิกฤติที่กำลังดึงคุณให้ล้มลงอาจกลายเป็นโอกาสที่ทำให้คุณได้ยืนขึ้นใหม่อีกครั้ง
Contact: MDRTeditorial@teamlewis.com